แก้วกาแฟที่ไม่ทำให้รู้สึก

แก้วกาแฟที่วางอยู่บนโต๊ะทำงานเราเป็นแก้วที่เราซื้อจาก IKEA ทำจากเซรามิก สีเทา มีหูจับ เหมาะกับการดื่มกาแฟเพราะสามารถจับแก้วได้โดยไม่รู้สึกร้อน ความร้อนจากเครื่องดื่มส่งมาไม่ถึงหูจับ ในแก้วมีกาแฟสำเร็จรูปรสชาติแย่ ๆ ที่เราเพิ่งเทน้ำร้อนใส่ลงไป สีของกาแฟสำเร็จรูปเวลาไม่ใส่น้ำตาลและครีมต่างจากสีของกาแฟสด กาแฟในแก้วตอนนี้ถ้าคนไม่รู้มาก่อนอาจคิดว่าเป็นเป๊ปซี่ ถ้าเราดื่มกาแฟจนหมดจะเห็นคราบสีน้ำตาลอยู่ด้านในแก้ว คราบนี้จะเข้มข้นเป็นพิเศษที่ก้นแก้ว

เรามักจะทิ้งแก้วกาแฟที่ดื่มเสร็จแล้วเอาไว้บนโต๊ะสักพัก ไม่ได้ล้างทันที และเวลาล้างก็ใช้เพียงสบู่ ใช้แค่มือถู ไม่ได้ใช้ใยขัด ซึ่งนานเข้าทำให้มีคราบกาแฟติดอยู่ที่แก้วที่คงจะหลุดออกได้ด้วยการขัดแรง ๆ เท่านั้น คราบพวกนี้จริง ๆ ก็คือคราบที่เห็นในแก้วกาแฟตอนแรก คราบในแก้วกาแฟตอนแรกไม่ใช่คราบกาแฟที่เพิ่งชง กาแฟดำไม่ได้ทิ้งคราบไว้บนแก้วให้เห็นได้ชัดขนาดนั้น เวลาเราเอาแก้วไปล้างเราก็คิดว่าแก้วสะอาดเอี่ยมอ่องทุกที ตอนที่เห็นคราบครั้งแรกยังคิดว่าครั้งนั้นล้างแก้วไม่สะอาด ทำให้ต้องเอาไปล้างอีกครั้ง แต่ก็พบว่าคราบยังอยู่เหมือนเดิม ถ้าดูดี ๆ จะเห็นว่าคราบสีน้ำตาลด้านในแก้วไม่ได้เรียบเนียนเสมอกัน แต่มีรอยขูดขีดไปมาเป็นเส้น เป็นรอยที่เกิดจากการลองขัดแก้วด้วยมือเปล่าและเลิกล้มไปเพราะรู้สึกว่าเสียเวลา เล็บมนุษย์มีความสามารถในการขัดคราบบนแก้วกาแฟต่ำกว่าใยขัดโง่ ๆ มาก

คราบกาแฟที่ว่าพอมาอยู่ในแก้วกาแฟที่ออกแบบมาแบบเรียบ ๆ ไม่ได้มีลวดลายอะไรก็ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสกปรกเหมือนกัน ก่อนหน้านี้เราชอบซื้อแก้วสวย ๆ แต่แก้วพวกนั้นใช้ไปใช้มาก็เบื่อ พอเบื่อแล้วก็ไม่ค่อยอยากหยิบมาใช้เท่าไหร่ ต่างจากแก้วที่เราไม่ได้รู้สึกชอบเป็นพิเศษตั้งแต่แรก กลายเป็นว่าแก้วแบบนี้อยู่กับเรานานกว่า

ข้าวของในห้องเราตอนนี้เป็นแบบแก้วกาแฟ เป็นการออกแบบที่น่าจะเรียกว่ามินิมัล เรียบ ๆ ไม่ได้มีลวดลายอะไร ไม่ใช่ว่าเราชอบการออกแบบสไตล์นี้ เราไม่ค่อยตื่นเต้นกับการได้เห็นข้าวของที่มันเรียบง่าย แต่เราเลือกข้าวของพวกนี้เพราะมันไม่รบกวนความคิดของเรา เราไม่ชอบที่เวลามองไปทางไหนแล้วก็มีเรื่องราวอยู่เต็มไปหมด เราคิดว่าแบบนี้ดีกับเราในการสร้างสรรค์งานมากกว่า เราไม่อยากให้ความคิดและจินตนาการของเราถูกหยุดเอาไว้ด้วยเรื่องราวเก่า ๆ แต่ว่าเรากำลังคิดว่าเราอาจจะคิดผิดก็ได้

เรากลับไปอ่านเงียนเขียนของเราในช่วงที่เราเขียนนู่นเขียนนี่เยอะเป็นพิเศษ เราคิดมาตลอดว่าตัวเราในอดีตเขียนได้ดีกว่านี้ งานหลาย ๆ ชิ้นที่เราเคยคิดว่าดีพอกลับไปอ่านกลายเป็นว่าห่วยแตกเป็นบ้า งานหลายชิ้นดีกว่าที่คิด และงานบางชิ้นดีอย่างที่คิด แต่ไม่ว่าคุณภาพงานจะเป็นแบบไหนสิ่งที่มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคืองานดูจะมีขอบเขตของความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่า เรานึกถึงประสบการณ์ของตัวเองและประสบการณ์ของศิลปินคนอื่น ๆ ที่เราอ่านเจอ ที่บอกว่าไอเดียชอบออกมาตอนทำอะไรอย่างอื่นอยู่ แต่ตอนที่พยายามเค้นไอเดียทำแทบตายยังไงก็ไม่ออกมา

บางทีการมีข้าวของที่มีเรื่องราวและความรู้สึกมากมายอยู่ในห้องอาจมีประโยชน์กับเราในฐานะศิลปินมากกว่าที่เราคิด เราว่าไอเดียคือการเอาความทรงจำมารวมเข้ากับข้อมูลใหม่ แล้วสร้างเป็นสิ่งใหม่ออกมา ปัญหาคือการมองแก้วกาแฟสีเทาอันว่างเปล่าเราเห็นเพียงแก้วสีเทาอันว่างเปล่า แต่การมองแก้วสีน้ำเงินเข้มมีลวดลายที่แม้เราจะเบื่อไปแล้ว เราเห็นทั้งร้านที่เราไปซื้อ ประโยคที่เราพูดกับคนขาย เหตุผลที่เราไปที่ร้านนั้นตั้งแต่แรก และคนที่เราไปด้วย

มีอีกอย่างที่เราคิดว่าการเลือกข้าวของที่ไม่มีเรื่องราวอาจส่งผลกับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นคือการเลี่ยงที่จะไม่รู้สึก การเลือกข้าวของที่ไม่ได้ทำให้ตื่นเต้นตั้งแต่แรกช่วยทำให้เราไม่ต้องรู้สึกแย่เมื่อถึงเวลาที่ของชิ้นนั้นไม่ได้สร้างความสุขให้เราอีกต่อไปแล้ว เพราะเราเลี่ยงที่จะรู้สึกในเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้ ทำให้เราเคยชินกับการไม่รู้สึกโดยไม่รู้ตัว และความรู้สึกนี่แหละที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นนักเขียน อาจจะไม่ใช่นักเขียนทุกแบบ แต่อย่างน้อยก็สำคัญกับนักเขียนแบบที่เราอยากเป็น นักเขียนที่ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้รู้สึกหรือเป็นอะไรแบบที่เราเป็นอยู่คนเดียว

Share:

Leave a Reply