เรากลับมาจากการเดินทางบนเส้นทางแสวงบุญอันเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่าง Kumano Kodo ได้ราวสองเดือนกว่าแล้ว ตอนแรกคิดว่าจะไม่เขียนอะไรเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ เพราะถ้าเขียนก็คงเป็นการเขียนบันทึกแบบที่เราจะเขียนลงสมุดบันทึก ไม่ได้มีประโยชน์ต่อผู้อ่านที่ผ่านมาเห็นหรือนักเดินทางที่ต้องการมาเยือนสถานที่แห่งนี้แม้แต่น้อย แต่สมุดบันทึกที่เราใช้อยู่อย่าง Hobonichi Techo ก็เป็นสมุดบันทึกที่มีพื้นที่จำกัด แม้จะเขียนจนเต็มหน้ากระดาษทุกวันก็ยังบันทึกความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ไม่ถึงครึ่ง กลัวว่าถ้าไม่เขียนเก็บไว้สักวันหนึ่งความคิดและความรู้สึกเหล่านี้ก็อาจจะหายไป จะเขียนลงบนคอมพิวเตอร์แล้วเก็บปะปนกับไฟล์มากมายที่ถูกหลงลืมก็ไม่ค่อยน่าเต้นเต้นเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเราจึงตัดสินใจว่าจะเขียนบันทึกการเดินทางครั้งนี้ลงบล็อกของตัวเอง
สิ่งที่เราเลือกเขียนถึงคือสิ่งที่เราค้นพบหรือเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง เพราะว่าการค้นพบหรือเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองเป็นเรื่องน่าสนุกเสมอ ปีนี้เราอายุสามสิบห้า ตามปกติถ้าอยู่กับสิ่งไหนนานเกินไปก็ควรจะเบื่อได้แล้ว แต่นี่ก็ยังไม่เห็นจะเบื่อตัวเองสักที ราวกับว่าชีวิตคนเราคือหนังสือที่มีเนื้อหาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หรือมีหน้าลับซ่อนอยู่เต็มไปหมดยังไงยังงั้น
.
เรายังเป็นคนที่ไม่ได้ซาบซึ้งกับธรรมชาติ ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนเราค้นพบว่าเราเป็นคนที่ชื่นชมกับสถาปัตยกรรมจากฝีมือมนุษย์มากกว่าความงามของธรรมชาติ ถ้าหยิบกล้องออกมาถ่ายภาพนั่นก็เป็นเพราะความงามของสิ่งปลูกสร้างมากกว่าความงามของต้นไม้ใบหญ้า และความจริงข้อนี้ของเราก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนอาจจะมีเพียงความเข้าใจของเราต่อสิ่งนี้ บางทีสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรนำมาเปรียบเทียบกันตั้งแต่แรก ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งปลูกสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติเป็นความสัมพันธ์คนละแบบ ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่าทำไมหรืออย่างไร แต่มันเหมือนกับว่าถ้ามีเส้นทางสองเส้นทาง เส้นทางแรกเป็นเส้นทางเดินท่ามกลางธรรมชาติสู่สิ่งปลูกสร้างอันงดงาม ส่วนเส้นทางที่สองเป็นเส้นทางเดินท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างสู่ธรรมชาติอันงดงาม เราจะเลือกเส้นทางแรกเสมอ
อาจจะไม่ชอบภาพจากกล้องฟิล์มแล้ว เพราะว่าไม่อยากโฟกัสที่การถ่ายภาพมากเกินไปก็เลยเลือกซื้อกล้องฟิล์มแบบใช้แล้วทิ้งมาใช้ กล้องแบบนี้ถ่ายเสร็จแล้วหยิบมาเช็กความสวยงามของภาพไม่ได้และยังมีจำนวนภาพทั้งหมดที่ถ่ายได้จำกัด ตอนแรกก็คิดว่าเป็นทางเลือกที่ดี ระหว่างอยู่ที่ญี่ปุ่นก็คิดว่าเป็นทางเลือกที่ดี แต่มารู้สึกว่าไม่ดีก็ตอนเห็นภาพที่ล้างออกมานี่แหละ เพราะกล้องฟิล์มแบบใช้แล้วทิ้งรุ่นที่เราซื้อมาไม่สามารถวัดแสงและวัดระยะโฟกัสได้ เราที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องการถ่ายภาพจึงถ่ายภาพออกมาเบลอหรือมืดเกินไปเกือบทั้งหมด แน่นอนละว่าเราไม่ชอบภาพที่ถ่ายออกมา แต่ก็ยังแอบรู้สึกว่าถ้าทุกภาพออกมาชัดเจน แสงเงาสวยงามพอเหมาะพอดี เราก็ยังจะไม่ชอบภาพที่ถ่ายออกมาอยู่ดี ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ทำให้เราตกหลุมรักการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มตั้งแต่แรก
ภาพที่ถ่ายจากกล้องฟิล์มล้วนมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวที่ดูแล้วสวยแบบไม่ต้องแต่งภาพเลย แต่ตอนนี้เรากลับไม่ชอบภาพที่มอบบรรยากาศแบบนั้นแล้ว มันเหมือนกับว่าสิ่งที่กล้องเห็นกับสิ่งที่เราเห็นไม่เหมือนกัน กลายเป็นว่าสถานที่และผู้คนที่ถูกบันทึกลงบนฟิล์มกลายเป็นความทรงจำของใครที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่ความทรงจำของเราแน่ๆ ช่วงที่ยังโพสต์ภาพลงบนโซเชียลมีเดียเราชอบภาพสวยๆ พวกนี้มาก แต่พอไม่ได้จะเอาภาพไปอวดใครที่ไหน ความสวยงามของภาพก็เลยไม่สำคัญเท่ากับความทรงจำที่ภาพเหล่านั้นพาเรากลับไปหา และภาพที่ไม่ได้ทำหน้าที่นั้นก็เลยกลายเป็นภาพที่ไม่น่าดึงดูดสำหรับเราอีกต่อไป
ポポット คือร้านอาหารที่เราแวะกินแฮมเบิร์กมื้อแรกของทริป เลือกร้านนี้เพราะถูกใจกับบรรยากาศน่าดึงดูดบางอย่าง ซึ่งตรงข้ามกับความเหงาที่กล้องฟิล์มของเราถ่ายทอดออกมาอย่างสิ้นเชิง
ร้านอาหารคะแนนรีวิวต่ำแต่เพื่อนแนะนำคือร้านอาหารที่ดี ร้านอาหารคะแนนที่มีคะแนนรีวิวดี ไม่ได้หมายความว่าร้านนั้นจะทำอาหารออกมาอร่อย แต่อาจหมายความได้ตั้งแต่ว่าร้านนั้นแค่ไม่ได้ทำอาหารออกมาแย่ ร้านนั้นทำอาหารออกมาเฉยๆ ไปจนถึงร้านนั้นทำอาหารออกมาอร่อยมาก แต่ด้วยพลังแห่ง Social Proof ร้านอาหารที่มีคะแนนดีอยู่แล้วจึงมีคะแนนดีอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าหลายครั้งเราอาจจะไม่ได้ชอบร้านอาหารร้านนั้นขนาดนั้น แต่เมื่อนั่นเป็นร้านอาหารที่ทุกคนชอบ เราจึงพลอยคิดว่ารสนิยมของเราเองที่เป็นฝ่ายที่ผิด ไม่ใช่ร้านอาหารที่เป็นฝ่ายผิด
การเดินทางครั้งนี้ช่วยยืนยันความคิดของเราว่าร้านอาหารที่ทำอาหารออกมาอร่อยจริงๆ ก็คือร้านที่เพื่อนแนะนำแต่เปิดดูรีวิวแล้วดาวน้อยนี่แหละ ร้านพวกนี้มักจะทำอาหารที่มีรสชาติเฉพาะตัว แบบที่มักจะแบ่งลูกค้าออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน ระหว่างคนที่ชอบกับคนที่เกลียด จึงเป็นที่มาของคะแนนรีวิวที่มักจะอยู่ที่ประมาณสามดาวบนเว็บไซต์และแอปรีวิวอาหาร นอกจากนี้ร้านอาหารเหล่านี้ยังมักจะเป็นร้านที่มีการตกแต่งธรรมดา ไม่ได้สวยดึงดูดสายตาควรค่าแก่การเก็บบันทึกลงมือถือ บรรยากาศของร้านจึงไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเพิ่มคะแนนแม้แต่น้อย
แต่การจะถามหาร้านอาหารแบบนี้จากคนรู้จักก็อาจจะต้องใช้ความพยายามอยู่สักหน่อย เพราะคำตอบที่ได้กลับมาจากเพื่อนฝูงมักจะเป็นร้านที่คนถามน่าจะชอบแทนที่จะเป็นร้านที่คนถูกถามชอบจริงๆ แต่เราเชื่อว่าถ้าลองขอรายชื่อร้านอาหารสักห้าร้านยังไงก็น่าจะมีร้านที่คนถูกถามชอบจริงๆ รวมอยู่ด้วยแน่ๆ
การถูกดูถูกไม่ได้ทำให้เราโกรธอีกแล้วละมั้ง ตอนอยู่ที่ Yunomine Onsen เราซื้อกาแฟจากตู้กดเครื่องดื่มแล้วก็เดินมายืนดื่มตรงป้ายรถเมล์ที่มีนักท่องเที่ยวมากมายยืนรอรถเมล์อยู่ เพราะเราตั้งใจจะมาดูตารางเวลาเพื่อยืนยันรอบรถเมล์ที่เราต้องขึ้นอีกครั้งด้วย ยืนอยู่สักพักก็มีผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่งตะโกนบอกเราว่าหางแถวอยู่ทางนั้น พร้อมกับชี้นิ้วไปทางแถวที่ยาวเหยียด เราพยักหน้ารับแต่ไม่ได้เดินไปต่อแถวเพราะว่ายังอีกนานกว่าจะถึงเวลา และรถเมล์ที่กำลังจะมาก็น่าจะเป็นคนละคันกับรถเมล์ที่เราต้องขึ้น แต่ไม่ทันไรผู้หญิงคนเดิมก็พูดกับเพื่อนๆ ด้วยเสียงอันดังพอที่เราและคนบริเวณนั้นจะได้ยินว่า “คอยดูนะ ผู้ชายคนนั้นทำเป็นไม่เข้าใจ แต่เดี๋ยวพอรถเมล์มาก็จะวิ่งแซงขึ้นไปเป็นคนแรก”
เราไม่รู้ว่าเค้ารู้หรือเปล่าว่าสุดท้ายเราไม่ได้ขึ้นรถเมล์คันนั้น แต่ที่เราแปลกใจก็คือเรื่องแบบนี้เคยทำเราโกรธมากๆ และแทบจะเป็นไม่กี่เรื่องในชีวิตที่ทำให้เราโกรธ แบบที่เปลี่ยนเราจากคนเรื่อยๆ เฉยๆ ไปเป็นคนบ้าที่พร้อมจะทำลายทุกสิ่งได้ในเวลาไม่กี่วินาที ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าความโกรธของเรากับเรื่องแบบนี้หายไปตั้งแต่ตอนไหน หรือว่าหายไปจริงๆ หรือเปล่า แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีเหมือนกัน เพราะนี่เป็นอีกสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับชีวิตแต่เรากลับแบกเอาไว้มานานเหลือเกิน
ตกเครื่องบินไม่ใช่เรื่องยากและใหญ่อย่างที่คิด ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะกลายเป็นคนที่ตกเครื่องบิน แต่พอถึงคราวของตัวเองขึ้นมาก็เกิดขึ้นง่ายกว่าที่คิด รถไฟสายด่วนที่นำสู่สนามบินมาถึงช้ากว่ากำหนด หน้าจอที่สถานีขึ้นข้อมูลว่ารถไฟดีเลย์ รอนานเกือบชั่วโมง มีเสียงประกาศอันแผ่วเบาอยู่สองสามครั้งว่าวันนี้รถไฟจะไม่มา แต่หน้าจอแสดงข้อมูลยังบอกแค่ว่าดีเลย์อยู่เหมือนเดิม ก็เลยเลือกเชื่อตามนั้น รู้ตัวอีกทีก็ต้องรีบหารถไฟขบวนใหม่ เดินทางมาถึงสนามบินก่อนเครื่องออกราวห้าสิบนาที แต่ไม่เหลือแม้แต่เคาน์เตอร์เช็กอินของสายการบินให้ได้เจรจาต่อรอง
ตั๋วกลับไทยเที่ยวถัดมาอีกสองชั่วโมงราคาเป็นหมื่น แต่พอสูดหายใจลึกๆ แล้วลองเลือกดูเที่ยวบินของเช้าวันถัดมาก็พบว่าราคาอยู่แค่ราวๆ ห้าพันบาท หาโรงแรมถูกๆ นอนสักคืนก็ยังถูกกว่าการยืนหยัดว่าจะกลับคืนนั้น แถมยังได้เดินเล่นแถวย่านที่ไม่เคยคิดจะได้ไปเยือนเป็นของแถม
มาคิดดูคำพูดที่พวกเราใช้ในภาษาไทยอย่าง “ตกเครื่องบิน” ก็มีส่วนทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “missed the flight” หรือ ”พลาดเที่ยวบิน“ ฟังดูน่าวิตกกังวลน้อยกว่าเยอะ
ไม่อยากที่จะหยุดเขียนสักวัน เพราะว่าเป็นวันหยุดพักผ่อนก็เลยแจ้งลางานหาเงินที่ทำอยู่ทุกวัน และยังลาตัวเองจากงานเขียนนิยายที่ไม่รู้จะทำเงินเมื่อไหร่ด้วย งานอย่างแรกเรายินดีที่ได้หยุดแต่กับอย่างหลังเรารู้สึกไม่ค่อยยินดีเท่าไหร่ ถึงแม้เราจะไม่ค่อยมีความสุขเวลาเขียนนิยาย แต่พอไม่ได้เขียนขึ้นมาจริงๆ ก็เกิดคิดถึงขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ ไม่แน่ว่าบางทีเราอาจจะรักสิ่งที่กำลังทำอยู่มากกว่าที่คิด และสิ่งที่รัก คนที่รัก ก็คือสิ่งที่เราพามาวันหยุดพักผ่อนกับเรา ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้ที่บ้าน คงจะเป็นอะไรแบบนั้นละมั้ง
ยังคงไม่ชอบเวลาที่ตัวเองไม่กล้า แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป ระหว่างเดินขึ้นบันไดแสนชันห้าร้อยสามสิบแปดขั้นที่ทำเอาเหนื่อยหอบและถ้าพลาดก็อาจตกลงมาตายได้ง่ายๆ เราสวนทางกับผู้หญิงคนหนึ่ง เราทั้งสองคนหยุดเดินพร้อมกันและยิ้มให้กันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน เราพูดกับผู้หญิงคนนั้นเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เชิญก่อนเลยครับ” ผู้หญิงคนนั้นยิ้มแล้วตอบกลับมาเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เหนื่อยจริงๆ นะคะ แต่ว่าวิวสวยมากจริงๆ” เรายิ้มแต่ไม่ได้ตอบอะไรกลับไป ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่อยากตอบ แต่เป็นเพราะเรากลัวว่าเราจะพูดผิด หนังสือภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้นไม่ได้สอนวิธีสนทนากับผู้หญิงที่เดินสวนกันตรงขั้นบันไดหิน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ไม่ใช่ครั้งที่สิบ แต่อาจจะเป็นครั้งที่ห้าร้อยที่ความกลัวหยุดเราจากการทำบางอย่าง และเราก็มักจะตำหนิตัวเองที่ไม่สามารถคว้าสิ่งที่ต้องการเพราะว่าไม่กล้าพอ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่น่าตำหนิจริงๆ ก็คือการทิ้งขว้างความรู้สึกของคนอื่น เราอยากที่จะกล้ามากกว่านี้ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นเป็นผู้กล้าแห่งสยามประเทศ ตอนนี้ขอแค่ถ้ามีคนมอบคำพูดที่มีความหมาย ก็อยากที่จะตอบแทนด้วยคำพูดที่มีความหมายเหมือนกัน
การอาบน้ำรวมที่บ่อน้ำพุร้อนทุกวันไม่ใช่เรื่องสนุก ก่อนหน้านี้เราน่าจะเคยแช่อนเซ็นมาทั้งหมดสองครั้งถ้วน ที่ญี่ปุ่นครั้งหนึ่งกับที่เมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกดี แม้ว่าจะไม่ได้รู้สึกผ่อนคลายอะไรขนาดนั้น แต่ปัญหาก็คือที่พักตามเส้นทางคุมะโนะเนี่ย ห้องอาบน้ำดันเป็นห้องอาบน้ำแบบอนเซ็นแทบทั้งหมด แม้จะไม่ได้อยากแช่น้ำหย่อนก้น อยากจะแค่อาบน้ำสระผมชำระความสกปรก ก็ยังต้องทำต่อหน้าคนอื่นอยู่ดี เมื่อไม่สามารถอาบน้ำแบบเป็นส่วนตัว เราก็เลยล้มตัวลงนอนทั้งๆ ที่ไม่ได้อาบน้ำอยู่หลายวัน
บางทีนี่อาจจะเป็นคำแนะนำเพียงอย่างเดียวจากเราสำหรับคนที่ต้องการเดินทางมาเยือนคุมะโนะ และเป็นสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีไกด์บุ๊กเล่มไหนเขียนแนะนำ
“สิ่งหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการเดินทางบนเส้นทางคุมะโนะโคะโด ก็คือการฝึกฝนและเตรียมตัวอาบน้ำต่อหน้าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก หรือไม่รู้จัก ต่างชาติต่างศาสนา หรือว่าชนชาติเดียวกัน”
ทูน่าสดอร่อยกว่าที่คิด เราไม่เคยชอบทูน่าสด ไม่ว่าจะเอามาทำซูชิหรือซาชิมิ ไม่ว่าจะกินจากร้านราคาหลักร้อยหรือว่าร้านราคาหลักพัน รู้สึกเหมือนกับว่าเนื้อปลามีกลิ่นคาวเลือดปะปนอยู่ แม้จะเคยคิดอยู่หลายครั้งว่าเราคงคิดไปเองจากการที่เนื้อปลามีสีแดง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะลบความรู้สึกของเราต่อเรื่องดังกล่าว
ตอนอยู่ญี่ปุ่นคราวนี้ได้กินทูน่าหลายครั้ง และพบว่ามันเป็นอาหารที่อร่อยกว่าที่คิด ไม่ได้รู้สึกถึงกลิ่นคาวเลือดอย่างที่เคยรู้สึก จนคิดอยากจะลองกินพวกส่วนแพงๆ ที่เคยกินแล้วรู้สึกเฉยๆ ขึ้นมาเลย แต่ถึงอย่างนั้นทูน่าก็ไม่ใช่ปลาที่เราอยากจะสั่งเวลากินบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นอยู่ดี เป็นปลาที่มีโอกาสไม่อร่อยอยู่สูงเกินไป ตอนอยู่ญี่ปุ่นแม้จะเจอทูน่าสดแสนอร่อยอยู่หลายมื้อ แต่พอมาเจอทูน่าทอดชิ้นเบ้อเริ่มที่โรงแรมแห่งหนึ่งก็ยังต้องทนกล้ำกลืนฝืนกินอยู่นานเหมือนกัน จากนี้ก็คงจะยังถือคติว่า “ทูน่าสดอาจเป็นปลาที่อร่อยกว่าที่คิด แต่แซลมอนสดคือปลาที่อร่อยแบบไม่ต้องคิดอะไร”
กระเบื้องลายบินนะกะมากุโระที่ Kii-Katsuura แถวจุดที่เราแวะกินข้าวหน้าปลาทูน่าและตามคนมาช่วยคุณลุงชาวญี่ปุ่นออกจากห้องน้ำ
การยิ้มทำให้มีความสุขขึ้นจริงๆ ตอนอ่านเจอครั้งแรกว่าการยิ้มให้ตัวเองที่หน้ากระจกสามารถทำให้คนเรามีความสุขขึ้น เรารู้สึกเหมือนกับตัวเองพบเจอขุมทรัพย์ล้ำค่าจริงๆ นะ ใครจะไปคิดว่าความสุขจะเกิดขึ้นง่ายดายขนาดนั้น
แต่มันก็ไม่ง่ายจริงๆ นั่นแหละ ไม่ใช่แค่การยิ้ม แต่สารพัดวิธีทำอะไรกับตัวเองที่หน้ากระจก ไม่ว่าจะลองสักกี่ครั้งก็ไม่เห็นเคยจะได้ผล ไม่ว่าจะบอกตัวเองว่าเป็นคนมั่นใจสักกี่ครั้ง เราก็ยังคงกลัวและกังวลกับเรื่องที่คนอื่นทำได้ง่ายๆ เหมือนเดิม
ถึงอย่างนั้นระหว่างเดินป่าที่ญี่ปุ่น เราได้แต่ยิ้ม ยิ้ม แล้วก็ยิ้ม เพราะว่ามันง่ายกว่าสำหรับคนขี้อายอย่างเราที่จะยิ้มแทนการกล่าวทักทายเวลาที่เดินสวนทางหรือขยับหลบทางให้นักเดินทางคนอื่น และเราแทบจะต้องทำแบบนั้นกับนักเดินทางแทบทุกคนที่เลือกเดินทางช่วงเดียวกันกับเรา เพราะเราเดินช้ามากจริงๆ แบบที่ต้องบวกเวลาสองชั่วโมงจากเวลาที่เว็บไซต์และหนังสือไกด์บุ๊กแนะนำ แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่ไม่ได้ยากเย็นอะไร
ผลก็คือเราสังเกตว่าเรามีความสุขขึ้นจริงๆ เป็นความสุขกับชีวิตแต่ละวันแบบกว้างๆ ซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้นกับเราเท่าไหร่ ปกติเราจะมีความสุขแบบสั้นๆ เวลาเจอสิ่งที่ถูกใจ ทำสิ่งสำคัญสำเร็จ แล้วก็กลับมาเรื่อยๆ เฉยๆ เหมือนเดิม
บางทีความสุขที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะเรายิ้มให้คนอื่น ไม่ใช่ยิ้มให้ตัวเองที่หน้ากระจก บางทีอาจไม่ใช่เพราะการยิ้มของเรา แต่เป็นเพราะการยิ้มของคนอื่นกลับมาให้เรา หรือบางทีอาจเป็นเพราะว่ามันไม่ใช่รอยยิ้มที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวง แต่เป็นสิ่งที่มีเพื่อกล่าวทักทายจากใจจริง ซึ่งถ้าจะต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว เราก็คิดว่าน่าจะเป็นเพราะอย่างหลังสุดนี่แหละ
ญี่ปุ่นเป็นสถานที่ที่เหมาะกับคนรักความสงบ ปัญหาหนึ่งที่เราเจอจากการใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยก็คือเรื่องเสียงรบกวน ทั้งเสียงเปิดเพลงอวดเพื่อนบ้าน เสียงหมาเห่าอย่างบ้าคลั่ง เสียงไก่ขันตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือเสียงนกกาเหว่าที่มีอยู่มากมายจนสงสัยว่าทำไมถึงถูกจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน
แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นช่างเงียบสงบต่อจิตใจ เสียงมนุษย์มนาที่ไม่เกรงใจใครไม่ต้องพูดถึง แต่ที่น่าประทับใจก็คือแม้แต่สรรพสัตว์ก็ยังเงียบ ตอนนอนอยู่หมู่บ้านกลางหุบเขาได้ยินเสียงไก่ขันตอนเช้าสองสามครั้งแล้วไม่ได้ยินอีกเลย
ความสงบสำคัญกับเรามาก ไม่ใช่เพราะว่าความเงียบในตัวมันเองเป็นสิ่งที่เราชอบเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะว่าด้านตรงข้ามของมันอย่างความไม่สงบทางเสียงต่างๆ นั้นมักจะมาพร้อมกับความหงุดหงิดสิ้นหวัง จากความจริงที่ว่าเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของเรา แต่เสียงรบกวนต่างๆ กลับบุกรุกเข้ามา โดยที่เราแทบจะทำอะไรกับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เลย
หาร้านอาหารจากความรู้สึกของตัวเองดีกว่าหาจากรีวิว วิธีที่ดีรองลงมาจากการขอคำแนะนำจากเพื่อนเวลาเลือกร้านอาหาร ก็คือการเชื่อความรู้สึกของตัวเองเวลาเดินผ่านร้านที่น่าสนใจ ตลอดหลายสิบวันที่อยู่ญี่ปุ่นเรามีความสุขกับการกินแทบทุกครั้ง แม้ว่าอาหารจะไม่ได้อร่อยทุกมื้อ ซึ่งเราคิดว่าบางทีความลับอาจจะอยู่ตรงความคาดหวัง ไม่มีใครเปิดเว็บรีวิวอาหารเพื่อหาร้านอาหารที่ไม่อร่อย แต่ถ้าลองแล้วไม่ชอบก็จะกลายมาเป็นประสบการณ์แย่ๆ ขณะที่การเลือกร้านอาหารด้วยตัวเองนั้น บรรยากาศของร้านแทบจะเป็นปัจจัยหลักของการเลือก เพราะว่าเราไม่มีทางรู้รสชาติของอาหารจนกว่าจะนั่งลงกิน นั่นหมายความว่าเมื่อเราตัดสินใจเดินเข้าร้านอาหารร้านนั้น แม้ว่าอาหารจะออกมาไม่อร่อย แต่เราก็ได้นั่งอยู่ในที่ที่หัวใจของเราพาเราเข้ามาเองตั้งแต่แรกแล้ว
ข้อดีอีกอย่างและเป็นข้อที่สำคัญก็คือ แม้จะเดินอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน แต่ว่าการมองหาร้านอาหารที่น่าจะอร่อย กับการมองหาร้านอาหารตามรีวิวจากแผนที่ สิ่งที่เรามองเห็นระหว่างทางนั้นก็แทบจะเป็นคนละอย่างกันอย่างสิ้นเชิง
อาหารมื้อแรกของทริปจากร้านชื่อ NEiGHBORHOOD แถวสถานี Kii-Tanabe จำชื่อเมนูไม่ได้ แต่ว่าอร่อยทั้งอาหารและกาแฟ
ก๊อกน้ำอัตโนมัติเป็นสิ่งที่ควรอยู่คู่ทุกห้องน้ำ ห้องน้ำที่ญี่ปุ่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำตามห้างสรรพสินค้า ห้องน้ำตามวัดวาอาราม หรือห้องน้ำสาธารณะข้างทาง ก็ล้วนแล้วแต่ติดตั้งก๊อกน้ำอัตโนมัติ ซึ่งไม่ได้มอบแค่ความสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังมอบวิธีล้างมือเพียงแบบเดียวที่เราคิดว่าสะอาด
การเปิดก๊อกน้ำด้วยมือที่สกปรก ล้างมือ และปิดก๊อกน้ำด้วยมือที่เพิ่งสะอาด ย่อมนำมาสู่มือที่สกปรก การล้างมือที่ห้องน้ำชายและเปิดก๊อกน้ำล้างมือแต่ละครั้ง ความจริงแล้วก็คล้ายกับการจับอวัยวะส่วนตัวของผู้ชายทุกคนที่เข้าห้องน้ำก่อนหน้าเรานั่นเอง ด้วยเหตุนี้เราจึงคิดว่าก๊อกน้ำอัตโนมัติจึงเป็นสิ่งที่ควรอยู่คู่กับห้องน้ำทุกที่
การกดกาแฟกระป๋องจากตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติเป็นเรื่องสนุกและสนุกเป็นพิเศษที่ญี่ปุ่น สิ่งที่เราทำทุกวันเวลาเที่ยวญี่ปุ่น ไม่ว่าจะกลับไปกี่รอบ ก็คือการกดกาแฟกระป๋องจากตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ ความพิเศษก็คือที่ญี่ปุ่นมีกาแฟกระป๋องหลายแบบมาก ชนิดที่ว่าถ้ากดทุกวัน วันละครั้ง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของการเดินทาง ก็ยังไม่จำเป็นต้องดื่มกาแฟกระป๋องที่ซ้ำกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว
นอกจากนี้ตู้กดเครื่องดื่มที่ญี่ปุ่นยังสามารถกดเครื่องดื่มร้อน ที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแบบใส่แก้วกระดาษ แต่เป็นกาแฟกระป๋องแบบอุ่นร้อน ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ของการดื่มเครื่องดื่มกระป๋องที่ดีมากๆ เสียดายว่าไม่เคยเห็นเครื่องดื่มร้อนแบบนี้ที่เมืองไทยเลยแม้แต่ครั้งเดียว
มานึกดูอีกทีความสนุกของการกดเครื่องดื่มจากตู้กดเครื่องดื่ม ความจริงแล้วก็ไม่ได้อยู่ที่ชนิดของเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะสามอย่างที่ทำให้การกดเครื่องดื่มจากตู้กดเครื่องดื่มสนุกเสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
อย่างแรก เวลาที่เราหยอดเหรียญจนครบมูลค่าของเครื่องดื่ม แล้วไฟสีเขียวแวบขึ้นมาด้านล่างของเครื่องดื่มที่สามารถกดออกมาได้ วินาทีนั้นช่างมอบความรู้สึกที่ดีมากอย่างบอกไม่ถูก เหมือนกับว่าเราปลดล็อกอะไรบางอย่างสำเร็จยังไงยังงั้น ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่ตู้กดเครื่องดื่มที่ทยอยกลายเป็นระบบหน้าจอสัมผัสมอบให้ไม่ได้
อย่างที่สอง การกดปุ่มพลาสติกที่ต้องออกแรงกดนิดหนึ่ง ปุ่มเดียวกับที่มีไฟสีเขียวขึ้นแสดงสถานะของเครื่องดื่ม ก็เป็นอีกสิ่งที่มอบความรู้สึกดีอย่างน่าประหลาด อารมณ์ประมาณบีบบับเบิลกันกระแทกแล้วรู้สึกดีแบบนั้น แต่บับเบิลกันกระแทกนี่พออายุมากขึ้นก็ไม่นึกจะอยากบีบแล้ว แต่กับปุ่มกดเครื่องดื่มนี่ไม่เคยเลยที่จะเบื่อ บางทีถ้าให้กดเล่นเฉยๆ ก็อาจจะไม่อยากทำเหมือนกับบับเบิลกันกระแทกก็ได้มั้ง แต่พอต้องกดเพราะต้องการซื้อเครื่องดื่มก็เลยกลายเป็นความรู้สึกดีอย่างช่วยไม่ได้ ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่ตู้กดเครื่องดื่มจอสัมผัสให้ไม่ได้เช่นกัน
อย่างที่สาม เสียงกระแทกตอนที่กระป๋องหรือขวดเครื่องดื่มที่เพิ่งซื้อตกลงมาที่ช่องรับเครื่องดื่ม คืออีกสิ่งที่สร้างความรู้สึกดีอย่างน่าประหลาด บางทีอาจจะเป็นเสียงของหล่นจากที่สูงเพียงอย่างเดียวที่ฟังแล้วรู้สึกดี ขณะที่การตกจากที่สูงของสิ่งของอื่นๆ มักจะสร้างความรู้สึกตกใจหรือผิดหวังเสมอ
.
กลับมาจากญี่ปุ่นคราวนี้แล้วก็รู้สึกว่าคิดถึงการออกเดินทางท่องเที่ยวจัง เมื่อก่อนเดินทางบ่อยกว่านี้มากๆ แต่พอผ่านช่วงโควิดมาก็กลายเป็นว่าติดการอยู่กับที่ไป จากนี้ก็อยากจะออกเดินทางมากขึ้นนะ เราเป็นคนที่ไม่เคยชินกับการใช้เงินครั้งละมากๆ เท่าไหร่ พอซื้อของราคาเป็นหมื่นแล้วจะรู้สึกแย่แทบทุกครั้ง แต่กับการออกเดินทางที่เสียค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นหลายเท่านี่กลับไม่เคยจะรู้สึกเสียดายเลยแม้แต่ครั้งเดียว