สร้างสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง (หรือเลิกทำลายสิ่งที่เหมาะกับตัวเองอยู่แล้ว)

เราอ่านบทสัมภาษณ์อาจารย์จุนจิ อิโต้ในหนังสือ ‘สู่ก้นบึ้งแห่งความสยอง เจาะลึก อิโต้ จุนจิ’ ด้วยความผิดหวังนิดหน่อย เพราะเคยอ่านบทสัมภาษณ์คนอื่นแบบที่เจาะลึกมากกว่านี้มาก่อน เราเลยคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรแบบนั้นในหนังสือเล่มนี้ ได้เห็นวิธีคิด วิธีทำงาน โดยละเอียด ของปรมาจารย์การ์ตูนสยองขวัญที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับเรา แต่บทสัมภาษณ์ในหนังสือก็ดูเป็นเป็นคำถามและคำตอบสั้น ๆ คร่าว ๆ ประหยัดเวลา ให้เราได้รู้อะไรหลายอย่าง อย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่ไม่ได้รู้อะไรลึก ๆ จริง ๆ

คำถามที่ว่า “อาจารย์ไปเอาไอเดียมาจากไหน” ดูจะเป็นความลึกลับที่ผู้อ่านคงไม่มีวันได้รับคำตอบในเวลาอันใกล้ หรืออาจจะตลอดไป เราไม่แน่ใจว่าจุนจิ อิโต้รู้คำตอบ แต่เลือกที่จะไม่ตอบ หรือว่าจริง ๆ ก็เป็นเหมือนคนอื่น ที่เอาเข้าจริงก็ไม่รู้คำตอบนี้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามในหนังสือมีส่วนที่พาไปชมห้องทำงานของอาจารย์ ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะประสบการณ์ดูรายการทีวีประเภทพาไปชมบ้านคนดังก็ดูจะไม่ได้ให้อะไรมากไปกว่าความบันเทิง แต่เราคิดผิด ห้องทำงานของอาจารย์ทำให้เราเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการ DIY ที่เชื่อมาตลอดว่าหน้าที่ของ DIY คือการประหยัด หรือการเติมเต็มความต้องการลึก ๆ ในการลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง เราไม่เคยมอง DIY ในแง่ของการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในโลกนี้ให้เกิดขึ้น สิ่งที่เหมาะกับเรา

จุนจิ อิโต้ดัดแปลงเตียงสองชั้นให้เป็นที่ทำงาน ชั้นล่างเอาเตียงออกแล้วติดตั้งโต๊ะทำงานเข้าไป ชั้นบนปล่อยเป็นเตียงไว้ สามารถขึ้นไปงีบเวลาที่ต้องการพักได้ นอกจากนี้ราวเหล็กรองรับเตียงชั้นบนที่ในเวลานี้กลายเป็นเพดานห้องทำงานชั้นล่างยังสามารถใช้แขวนอะไรต่อมิอะไรเพื่อความสะดวกในการใช้งานได้ อะไรต่อมิอะไรนี่มีตั้งแต่ภาพที่ใช้อ้างอิงเวลาวาดการ์ตูน รีโมตแอร์ หรือปากกาเขียนการ์ตูน

ปากกาเขียนการ์ตูนที่อาจารย์แขวนไว้ไม่ได้แขวนเพื่อให้หยิบมาใช้ได้สะดวก แต่เป็นการแขวนไว้กับเชือกอีกที เพื่อให้ปากกาลอยขึ้นเหนือพื้น ซึ่งจะเป็นการลดน้ำหนักของปากกา และทำให้เขียนการ์ตูนได้นานขึ้นโดยที่มือไม่เจ็บ

(อาจารย์จุนจิ อิโต้ ผู้เขียนก้นหอยมรณะ ขณะกำลังวาดต้นฉบับที่โต๊ะทำงาน)

หลังจากเห็นห้องทำงานของอาจารย์ที่ทำหน้าที่เปิดเผยความคิดได้ดีกว่าบทสัมภาษณ์ เราก็เริ่มจะมองสิ่งรอบตัวแล้วถามตัวเองว่าเราสามารถดัดแปลงอะไรให้เหมาะกับเราได้อีก มีอะไรในชีวิตบ้างที่อาจจะเหมาะกับคนทั้งโลก แต่จริง ๆ แล้วไม่เหมาะกับเราเลย ขนมปังนุ่ม ๆ ดูจะเป็นอย่างแรกที่เราพบ

หลังจากกินขนมปังสไลซ์เราจะปิดปากถุงให้แน่นทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ขนมปังโดนลมและแข็ง แต่ว่าเอาเข้าจริงเราค้นพบมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าเราชอบกินขนมปังที่ผึ่งลมไว้จนแข็งมากกว่าขนมปังนุ่ม ๆ หลายร้อยเท่า ตอนที่ตั้งใจวางขนมปังทิ้งไว้ให้แข็งเพื่อจะเอาไปทำครูตองซ์ก็ยังรู้สึกดีที่ได้หั่นและจับขนมปังแข็ง ๆ และยังรอกินส่วนเกินที่หั่นทิ้งไม่ได้เอาไปใช้มากกว่าสิ่งที่ตั้งใจทำแต่แรกอีก

รู้สึกว่าโชคดีจังเลยที่ไม่ตายไปก่อนที่จะได้ค้นพบความจริงที่ตัวเองมองข้ามมาตลอด ต่อจากนี้เวลาเห็นขนมปังแถวคงรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้พาขนมปังกลับบ้าน แกะออกจากถุง และวางทิ้งไว้ให้ขนมปังทั้งถุงเปลี่ยนสภาพไปเป็นขนมปังที่คนส่วนใหญ่มองว่ากินไม่ได้ แต่เป็นขนมปังที่อร่อยที่สุดสำหรับเรา

ยังมีอะไรอีกนะที่เราเปลี่ยนให้เหมาะกับตัวเองได้อีก มีอะไรอีกที่เหมาะกับตัวเองอยู่แล้วแต่เรากลับเปลี่ยนให้ไม่เหมาะกับตัวเองมาตลอด โดยไม่รู้ตัว ถ้าหาเจอก็คงใช้ชีวิตได้มีความสุขขึ้นอีกนิด


ภาพประกอบจากหนังสือ ‘สู่ก้นบึ้งแห่งความสยอง เจาะลึก อิโต้ จุนจิ’ โดย รักพิมพ์ พับลิชชิ่ง

Share:

Leave a Reply