แล้วทำไมพ่อกับแม่ถึงไม่เป็นเหมือนพ่อแม่คนอื่นบ้าง?

IMG_5577

เดือนที่แล้วกลับไปใช้เวลาอยู่ที่บ้านมาหนึ่งอาทิตย์ หลายอย่างทำให้เรามีความสุขอย่างคาดไม่ถึง นั่งมองนกค่อยๆ คาบใบหญ้าสีเขียวทีละเส้น บินกลับไปกลับมาเพื่อสร้างรังใหม่ และคอยลุ้นว่ามันจะโดนกิ้งก่าที่พรางตัวอยู่ไม่ไกลเขมือบมั๊ย ยืนมองงูเลื้อยผ่านเก้าอี้ที่เพิ่งนั่งอ่านหนังสือไป และไม่ได้ตกใจรีบวิ่งไปบอกให้ใครมาจัดการมันเหมือนตอนเด็กๆ งูเลื้อยเข้าใต้ตู้ เข้าไปในห้องน้ำ ปีนขึ้นหลังคา เหมือนจะมาบอกว่าถ้าจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยต้นไม้ต้องคอยระวังที่ไหนบ้าง เด็ดลูกหว้ามากินและนึกถึงผู้คนในอดีตที่พยายามชวนให้เรากินผลไม้สีม่วงรสหวานปนฝาด หลายคนจากไปแล้ว จากไปก่อนที่เราจะทันได้ห่างเหินกัน หรือทำร้ายกัน ทุกครั้งที่นึกถึงเลยมีแต่ภาพของความสุข แต่ชีวิตไม่ได้ง่ายแบบนั้น เวลาที่กลับไปอยู่หนึ่งอาทิตย์ ไม่มีวันไหนที่พ่อแม่ไม่ขึ้นเสียงใส่กันเลย เรารู้เหมือนที่รู้ว่าถ้าโยนลูกบอลลงพื้นมันน่าจะกลิ้งไปทางไหน เรารู้ว่าถ้าพ่อหรือแม่พูดแบบนี้มันจะนำไปสู่การทะเลาะกัน เรารู้ดีจนไม่ต้องรอให้เกิดการทะเลาะกัน เพียงแค่สักคนพูดประโยคแรกจบ เราก็กลับไปเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่อยากหนีออกจากที่นั่นให้เร็วที่สุด

ตอนเด็กๆ เวลาต้องเขียนความสามารถพิเศษ เรามักจะสับสนไม่รู้จะเขียนอะไร ตอนนี้มองย้อนกลับไปมีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ดีมาก นั่นคือการทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น วินาทีหนึ่งเราอยู่บนรถ ผ้าเช็ดหน้าชื้นไปด้วยน้ำตา วินาทีถัดมาเราจะเดินไปเข้าแถวข้ามถนน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เราจะบอกใครได้ยังไงว่าปัญหาของเราคืออะไร ในเมื่อเรารู้สึกว่าผู้ที่ควรจะปกป้องเรา ให้คำปรึกษาเรา ไม่เคยอยู่ฝั่งเดียวกับเรา และเพื่อนที่เราสนิทที่สุดก็มีครอบครัวที่อบอุ่นเหลือเกิน เราไม่เคยรู้ว่าการกอดกันในครอบครัวเป็นเรื่องปกติจนได้รู้จักกับเพื่อนคนนี้

ถ้ามีคนที่ทำร้ายเรา เพื่อนแกล้งเรา เราอาจลุกขึ้นสู้กับเพื่อน ฟ้องครู วิ่งไปหาพ่อแม่ แจ้งตำรวจ แต่ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำร้ายเราคือครอบครัว เราจะลุกขึ้นสู้กับใคร ฟ้องใคร วิ่งไปหาใคร?

ตอนเด็กๆ ประโยคนึงที่ทำร้ายจิตใจเรามากคือ “ทำไมไม่เป็นเหมือนลูกคนอื่นเค้าบ้าง” และทุกๆ ครั้งเราอยากตอบกลับไปมากจริงๆ ว่า “แล้วทำไมพ่อกับแม่ถึงไม่เป็นเหมือนพ่อแม่คนอื่นบ้าง”

ปัญหาอย่างนึงของสังคมไทยคือเราชอบยกอะไรไว้ในที่สูง ซึ่งไม่สามารถแตะต้อง ไม่สามารถวิจารณ์ได้ และเราก็สร้างประเพณี สร้างวันสำคัญ สร้างพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อยกย่องอะไรแบบนี้ยิ่งขึ้นอีก และยิ่งตอกย้ำว่าถ้าใครสักคนที่เป็นปัญหา มันคือเรา

นักเขียนชื่อ Neil Strauss เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มนึงชื่อ The Truth: An Uncomfortable Book About Relationships เล่าเรื่องราวของการเดินทางแก้ปัญหาความสัมพันธ์ของตัวเอง เข้าสู่สถานบำบัด ปรึกษาจิตแพทย์ ทดลองความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทำทุกวิธีที่จะค้นหาวิธีแก้ปัญหาของตัวเอง ซึ่งทำให้ต้องกลับไปขุดคุ้ยอดีตตัวเอง และพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ในชีวิต ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ มาจากวิธีที่เราถูกเลี้ยงมา มาจากพ่อแม่ของเรา

ในโลกที่สมบูรณ์ พ่อและแม่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และเลี้ยงดูเราอย่างดี เติบโตมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่โลกไม่ได้เป็นแบบนั้น ไม่ว่าสังคมจะพยายามยัดเยียดความคิดให้เราว่าพ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังไง ความจริงก็คือพ่อแม่เป็นมนุษย์ พ่อแม่เลี้ยงดูเราอย่างดีที่สุด ทำดีที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และทิ้งบาดแผลไว้ให้เรา ความไม่รักตัวเอง เอาแต่ใจ คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ คิดว่าคนอื่นไม่ดีพอ ฯลฯ เสียงในหัวที่บอกนู่นบอกนี่กับเรา ที่เราคิดว่าเราบอกตัวเอง จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เสียงเรา

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราควรจะโทษพ่อแม่เรา ต่อสิ่งแย่ๆ ในตัวเรา แต่อยู่ที่การยอมรับความจริงให้ได้ว่าทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีในตัวเรา เป็นผลโดยตรงจากวิธีที่เราถูกเลี้ยงดูมา และถ้าเราอยากเติบโตขึ้น อยากมีชีวิตของตัวเอง แทนที่จะใช้ชีวิตตามความต้องการของคนอื่น เราต้องออกจากที่นั่น ปล่อยพ่อแม่เอาไว้อย่างนั้น เค้าทำดีที่สุดแล้ว ถ้ายังโทษคนอื่นต่อไปก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปฏิบัติต่อตัวเอง ให้คำแนะนำตัวเอง ดูแลตัวเอง เหมือนกับที่เราอยากให้พ่อแม่ปฏิบัติกับเรา รับผิดชอบชีวิตตัวเอง รับผิดชอบความสุขของตัวเอง แทนที่จะฝากมันไว้ในมือคนอื่น

ชื่อของคนคนนึงโผล่เข้ามาในไดอารี่ของเราเมื่อสามปีที่แล้ว ปรากฏขึ้นมาครั้งเดียวและหายไป สามปีต่อมาชื่อนี้ปรากฏบ่อยขึ้น ด้วยความรู้สึกที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง เราถามตัวเองว่ามันเป็นแค่ผลข้างเคียงของการตกหลุมรักที่ทำให้เรามองข้ามข้อเสียของใครบางคนไป หรือเราเติบโตขึ้นจนเรียนรู้ที่จะรักใครแบบที่เค้าเป็นได้จริงๆ ยอมรับว่าดอกไม้บางชนิดมาพร้อมกับหนาม แทนที่จะทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เจ็บ แต่ยอมรับจริงๆ ว่านี่คือสิ่งที่มาพร้อมกัน และพร้อมที่จะอยู่กับสิ่งนี้ไปตลอดชีวิต

ถ้าข้อสันนิษฐานของเราถูก การยอมรับพ่อแม่ในแบบที่เค้าเป็นควรจะให้ผลแบบเดียวกัน ถ้าไม่เรียกร้อง และรับผิดชอบต่อความสุขตัวเอง ตอนนั้นต่อให้พ่อแม่ทะเลาะกันไปอีกร้อยปี เราก็ยังคงจะรักพ่อแม่ไปได้อีกร้อยปี โดยที่ไม่ต้องพยายามให้พ่อแม่เป็นเหมือนพ่อแม่คนอื่น

Share:

Leave a Reply